ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ burnout syndrome ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า เป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ก่อนรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต ดังนั้น การหมั่นสังเกตสัญญาณอาการและรู้เท่าทันโรคจะช่วยให้รับมือได้อย่างถูกวิธีก่อนสายเกินไป อาจส่งผลเป็นโรคทางสมอง บางรายอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าได้

ภาวะหมดไฟในการทำงาน แบ่งลักษณะอาการออกเป็น 3 กลุ่ม

1.ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง
2.มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ
3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ไม่เหมือนเดิม รู้สึกว่าทำงานได้ไม่ดี 

หลายๆคนน่าจะเคยมีอาการเบื่อ ไม่อยากตื่นไปทำงาน และคอยแต่ดูนาฬิกาว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาเลิกงาน นั่นไม่แปลกเลย เป็นแค่ “ความเบื่อหน่าย” ชั่วครั้งชั่วคราว หรือเป็นอาการที่รุนแรงในระดับ “หมดไฟ” ในการทำงานกัน วันนี้เรามี check list ให้ทุกคนตรวจสอบว่าอะไรที่ตรงกับตัวเอง

สัญญาณของภาวะหมดไฟ

  1. มีความกระตือรือร้นในการแสดงความสามารถและการทำผลงานลดลง
  2. มีความวิตกกังวล
  3. รู้สึกไม่อยากรับฟังใคร
  4. ไม่มีสมาธิ
  5. ขาดความคิดสร้างสรรค์
  6. คิดลบกับเพื่อนร่วมงานหรืองานที่ทำ
  7. โกรธง่าย/ หัวเสียง่าย
  8. เปลี่ยนงานบ่อย
  9. ไร้อารมณ์ความรู้สึกร่วมกับทีมงาน
  10. ไม่ทำงานให้สำเร็จตามที่ควรเป็น

หากคุณมีความรู้สึกแบบนี้เกิน 5-6 ข้อ หรืออาจจะเกือบทั้งหมดที่ว่ามา ให้สัณนิษฐานว่า เราอาจจะอยู่ในภาวะหมดไฟ แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาดี มีข้อแนะนำมาให้ดังนี้

1. ค้นหาว่าอะไรคือคุณค่าที่อยู่ในงานของคุณ 
ไม่ว่างานของคุณจะดูไม่สำคัญขนาดไหน หรือเป็นงานที่ทำซ้ำๆ งานใช้แรง หรืองานที่ไม่ต้องการทักษะสูง แต่คุณต้องหาให้เจอว่างานนั้นสร้างคุณค่าให้ตัวเองและคนอื่น หรือสังคมนี้อย่างไรและเปลี่ยนทัศนคติต่องานตัวเองให้ดีขึ้น

2. สร้างสมดุลให้การทำงานและการใช้ชีวิต 
แต่ถ้าคุณเกลียดงานที่ทำอยู่จริงๆ ละกัน งั้นลองเปลี่ยนไปหามุมอื่นในชีวิตที่น่าพึงพอใจกว่า เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง งานอดิเรก หรือออกไปทำงานอาสาสมัคร ก็จะช่วยให้คุณสนุกกับชีวิตมากขึ้นได้

3. หาเพื่อนในที่ทำงานเพิ่ม 
การผูกมิตรกับคนในที่ทำงานเพิ่ม จะช่วยให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง บางครั้งเราก็สามารถมีเพื่อนข้ามแผนกได้ ผ่านการทำกิจกรรมนอกเวลางานด้วยกัน เช่น ไปทำบุญ เล่นกีฬา ไปท่องเที่ยว ซึ่งคนเหล่านี้จะช่วยให้เราอยากไปทำงานมากขึ้นได้

4. ลาพัก 
หากรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วจริงๆ ทางออกที่ดีที่สุดคือการลาพักผ่อนและลาป่วย เพื่อเอาตัวเองออกจากบรรยากาศเดิมๆ บางคนอาจจะลาออกมานอนพักอยู่บ้านเฉยๆ เพื่อสงบใจ หรือใครไม่อยากอยู่บ้าน ก็ควรออกไปท่องเที่ยวซัก 3-4 วันตามงประมาณที่มี รับรองว่าสถานที่ใหม่ๆ จะช่วยเยียวยาคุณได้จริง